มะเร็งผิวหนัง คือโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง อันเป็นผลมาจากความผิดปกติในการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย และอาจแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงหรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้ หากระยะของโรครุนแรงขึ้น
โดยมะเร็งผิวหนังแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ ดังนี้
มะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ (Basal Cell Carcinoma-BCC)
เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในชาวตะวันตกที่มีผิวขาว มักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่โดนแสงแดดบ่อย ๆ เช่น ใบหน้า และลำคอ เป็นต้น โดยผิวหนังของผู้ป่วยอาจมีลักษณะเป็นตุ่มมันวาว หรืออาจมีแผลเรียบแบนสีแดงหรือสีน้ำตาลเกิดขึ้น
มะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma-SCC)
เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งทั้งหมด มักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับแสงแดดเป็นประจำ เช่น ใบหน้า หู และมือ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาจเกิดอาการขึ้นกับผิวหนังบริเวณที่ไม่โดนแสงแดดได้เช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวสีคล้ำ ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้อาจมีตุ่มเนื้อสีแดง หรือแผลเรียบแบนที่มีขุยสะเก็ดร่วมด้วย
มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma)
เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรงมาก สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่มักพบบริเวณใบหน้า ลำตัวของผู้ป่วยเพศชาย และขาส่วนล่างของผู้ป่วยเพศหญิง โดยมีความผิดปกติที่สังเกตเห็นได้ เช่น มีตุ่มหรือก้อนคล้ายไฝสีดำเข้ม ขอบไฝไม่เรียบ ไฝมีขนาดหรือสีที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และอาจมีเลือดออกจากไฝ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังยังมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังชนิดที่ไม่ใช่เมลาโนมาประมาณ 2-3 ล้านรายทั่วโลก และมีผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาประมาณ 132,000 ราย อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งผิวหนังเป็นโรคที่พบได้น้อยในประเทศไทย ซึ่งจากสถิติในปี 2557 สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้บันทึกข้อมูลผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังแล้วพบว่า มีผู้ป่วยเพศชายป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา 215 ราย มะเร็งผิวหนังอื่น ๆ 1,347 ราย ในขณะที่มีผู้ป่วยเพศหญิงป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา 238 ราย และมะเร็งผิวหนังอื่น ๆ 1,722 ราย
อาการของโรคมะเร็งผิวหนัง
โรคมะเร็งผิวหนังมีอาการที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และสามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณ แขน ขา มือ ใบหน้า หรือบริเวณที่ต้องถูกแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ ทั้งนี้อาการของมะเร็งผิวหนังจะแตกต่างกันตามชนิดของมะเร็งผิวหนังดังนี้
มะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ อาการที่เห็นได้ชัดคือจะมีตุ่มเนื้อสีชมพู แดง มีลักษณะผิวเรียบมัน และมักจะมีเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ กระจายอยู่บริเวณตุ่มเนื้อ บางครั้งก็มีลักษณะเป็นสะเก็ดหรือเป็นขุย ตุ่มเนื้อจากมะเร็งชนิดนี้จะโตช้า และจะโตไปเรื่อย ๆ จนอาจแผลแตกในที่สุด ทำให้มีเลือดออกและกลายเป็นแผลเรื้อรัง
มะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ อาการของมะเร็งชนิดนี้จะเริ่มต้นจากตุ่มเนื้อสีชมพู หรือแดง และด้านบนอาจมีลักษณะเป็นขุย หรือตกสะเก็ด เมื่อสัมผัสบริเวณแผลจะรู้สึกแข็ง เลือดออกง่าย แผลจะค่อย ๆ ขยายขนาดไปเรื่อย ๆ และกลายเป็นแผลเรื้อรังในที่สุด
มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา เนื้อร้ายที่เกิดขึ้นบนผิวหนังของมะเร็งชนิดนี้ เริ้มต้นจะมีลักษณะคล้ายกับไฝหรือขี้แมลงวัน แต่จะโตเร็ว ขอบเขตไม่เรียบและอาจมีสีไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ที่บริเวณแผลอาจตกสะเก็ดหรือมีอาการเลือดออกด้วยเช่นกัน
สาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนัง
สาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนัง คือการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอภายในเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์ที่ผิดปกติ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เซลล์ผิวหนังเกิดความผิดปกตินั้น ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด หรือแสงสังเคราะห์ที่นิยมใช้ในเตียงอาบแดด เป็นต้น ทั้งนี้แสงแดดไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเท่านั้น เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย อาทิ การสัมผัสกับสารพิษอันตรายเป็นเวลานาน ๆ หรือระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนังมี ดังนี้
มีผิวขาวซีด เนื่องจากผิวหนังมีเม็ดสีน้อยกว่า
อยู่กลางแดดเป็นเวลานานจนเกินไป โดยไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกัน หรือทาครีมกันแดด
อาศัยอยู่ในแถบที่มีแสงแดดจัด หรืออยู่ในที่สูง
มีไฝหรือขี้แมลงวันมากผิดปกติ
ในครอบครัวมีประวัติว่าเคยเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือผู้ป่วยเคยเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน
มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นผู้ติดเชื้อ HIV
ได้รับรังสีที่เป็นอันตรายติดต่อกันนาน ๆ
มีประวัติการถูกสารเคมี เช่น สารหนู หรือสัมผัสกับสารเคมีเป็นเวลานาน ๆ
การวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนัง
การตรวจเบื้องต้นด้วยตนเอง
การวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังด้วยตัวเองสามารถทำได้ด้วยการสังเกตความผิดปกติของผิวหนัง หากมีตุ่มเนื้อที่ดูผิดปกติ หรือมีแผลเรื้อรังบริเวณผิวหนังที่มักจะโดนแดดบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจให้ชัดเจน
การวินิจฉัยโดยแพทย์
แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากภายนอกด้วยการสังเกตความผิดปกติของผิวหนังอีกครั้ง หากบริเวณที่ผิดปกตินั้นมีความน่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อนำตัวอย่างผิวหนังบริเวณที่ต้องสงสัยไปทำการตรวจด้วยวิธีทางพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง ทั้งนี้ หากแพทย์พบว่าตัวอย่างผิวหนังที่ตัดไปตรวจนั้นเป็นเนื้อร้าย แพทย์อาจส่งตรวจเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์ว่ามะเร็งผิวหนังที่เป็นนั้นอยู่ในระยะใด ทั้งนี้ในการแบ่งระยะของโรคมะเร็งผิวหนังจะคล้ายคลึงกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ ซึ่งจะมีการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยแพทย์จะทำการวิเคราะห์ขนาดของก้อนเนื้อมะเร็ง และตรวจวินิจฉัยว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่น ๆ หรือไม่ แล้วจึงจะระบุได้ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งในระยะใด
การป้องกันโรคมะเร็งผิวหนัง
การป้องกันความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง มีดังนี้
หมั่นสังเกตผิวหนังของตนเองอยู่เสมอ หากพบว่ามีความผิดปกติหรือมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดทุกครั้ง หากต้องออกไปอยู่กลางแดด สวมหมวกที่มีปีกกว้างเพื่อป้องกันผิวหนังบริเวณศีรษะ ใบหน้า และคอ หรือใช้ร่มที่สามารถป้องกันรังสียูวีได้
ทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน โดยควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป หากมีผิวขาว ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไปจึงจะเหมาะสม และควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดอย่างน้อย 20-30 นาที อีกทั้งยังควรทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงสังเคราะห์ เช่น แสงจากเตียงอาบแดด เพราะแสงจากอุปกรณ์เหล่านี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนังได้เช่นกัน
ไม่ควรสูบบุหรี่ หรือสัมผัสควันบุหรี่